เป็นที่โด่งดัง ของ แจ็ค ข้อเท้าสปริง

ภาพวาดการประชุมพิจารณคดีเกี่ยวกับคดีแจ็ค ข้อเท้าสปริง (ค.ศ. 1840)

จากนั้น เรื่องราวของแจ็ค ข้อเท้าสปริง ก็ได้ถูกกล่าวอ้างถึงอีกหลายรายและหลายที่ เช่น ในเมืองเชฟฟิลด์และลิเวอร์พูล โดยเหยื่อมีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นหญิงสาวสวยวัยรุ่น และถูกลวนลามคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ติดใจทื่จะสอบสวนแต่อย่างใด

จนกระทั่งในปีถัดมา ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1838 เรื่องนี้ถูกยกหัวข้อขึ้นในที่ประชุมพิจารณาคดีในกรุงลอนดอน ปรากฏมีประชาชนชาวลอนดอนยอมฝ่าหิมะเพื่อไปสภาเมืองอย่างแน่นขนัด ผู้ว่าการเมืองได้แจ้งรายงานการบริหารงานเทศบาลและจากนั้นก็มีการอภิปรายเกี่ยวกับญัตติต่าง ๆ ที่ชาวเมืองเสนอมา สุดท้ายก็เป็นการอนุมัติจากศาล และช่วงสุดท้ายของการประชุมนั้นผู้ว่าได้หยิบบัตรสนเท่ที่ส่งมาจากผู้หญิงคนหนึ่ง และได้ให้ตัวแทนอ่านออกเสียงต่อต่อหน้าฝูงชน เป็นเรื่องการแจ้งความเรื่องมนุษย์ประหลาดที่ตระเวนหลอกผู้หญิงตกใจกลัวในแถบชานเมืองกรุงลอนดอน จดหมายฉบับนี้ยังบอกว่ามนุษย์ประหลาดผู้นี้ คือ ขุนนางคนหนึ่งที่เล่นพนันขันต่อกับเพื่อนผู้ชื่นชอบการกลั่นแกล้งคนว่า "กล้าแต่งตัวเป็นปีศาจหรือเป็นผีแล้วตระเวนไปหลอกตามบ้านคนหรือเปล่า" และเพื่อนคนนั้นก็ตกลงรับคำท้าและปลอมตัวเป็นมนุษย์ประหลาดดังกล่าว และจนบัดนี้การเล่นพิเรนทร์นี้ยังคงดำเนินต่อไปแล้วดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จึงอยากขอให้ผู้ว่าการเมืองหยุดการกระทำเช่นนี้ เมื่ออ่านจบก็สียงดังจากประชาชนโดยรอบอย่างมากที่ออกมาให้การตรงว่าพบเห็นมนุษย์ประหลาดเช่นกันและก่อให้เกิดเสียงตอบรับอย่างมากในหมู่ประชาชน เช้าวันต่อมา มนุษย์ประหลาดผู้นี้ได้ถูกตั้งชื่อในหนังสือพิมพ์ว่า "แจ็ค ข้อเท้าสปริง" (Spring Heeled Jack) และกลายเป็นที่รู้จักกันไปทั่วอังกฤษในเวลานั้น เพราะมีการร้องทุกข์จากผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และมีบางคนเกิดคดีที่ว่านี้นอกกรุงลอนดอนด้วย

เมื่อสถานการณ์ลุกลามถึงระดับนี้แล้ว ทางสก็อตแลนด์ยาร์ดก็ไม่อาจอยู่นิ่งได้ เนื่องจากมันมีผลต่อจิตวิทยาของชาวลอนดอนด้วย ซึ่งถ้าจิตใจของประชาชนหวาดกลัวสิ่งลึกลับที่ไม่สามารถอธิบายได้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในส่วนรวมด้วย อีกทั้งอังกฤษในเวลานั้นก็ใช่ว่าจะเป็นประเทศที่สงบสุขเรียบร้อยนัก เพราะเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียก็ยังมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา อนาคตการครองราชย์ยังไม่แน่ไม่นอน บวกกับเป็นช่วงลัทธิทุนนิยมเริ่มเข้ามาส่งผลทำให้เกิดความแตกต่างฐานะคนรวยกับคนจนอย่างมาก พวกขุนนางมีชีวิตที่หรูหรากินดีอยู่ดี ส่วนชนชั้นกรรมกรต่างลำบากในการหากินและพวกขอทานที่ไร้ที่อยู่อาศัย ดังนั้น การปรากฏตัวของแจ็ค ข้อเท้าสปริง มีทั้งข้อดีและไม่ดีปะปนกัน ในด้านไม่ดีคือมันสร้างความเดือดร้อนต่อสังคม ส่วนด้านดีคือมันกลายเป็นหัวข้อข่าวที่โด่งดังและนิยมในสมัยนั้น มันเป็นข่าวที่ทำให้ผู้คนได้ลืมความต่ำต้อยของฐานะ และเริ่มโด่งดังจนบางคนยกย่องเป็น ฮีโร่ หรือ ขวัญใจของประชาชน ด้วยซ้ำ เหมือนในกรณีแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ เป็นต้น

ซึ่งในปี ค.ศ. 1837 ที่แจ็ค ข้อเท้าสปริงออกอาละวาดนั้น กรมตำรวจลอนดอนพึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพียง 9 ปี จึงยังไม่มีประสบการณ์มากนักในฐานะองค์กรตำรวจ ทำให้การจับตัวแจ็ค ข้อเท้าสปริงนี้เป็นไปได้ยากลำบากมาก และพฤติกรรมที่มักปรากฏตัวอย่างผลุบ ๆ โผล่ ๆ ไม่ปรากฏตัวที่เดิมจึงไม่สามารถวางกำลังล้อมจับได้ เมื่อตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ กลุ่มประชาชนจึงอาสาสมัครมาเป็นคนตรวจตรายามค่ำคืนเอง โดยมี ผู้มีชื่อเสียงอย่าง เวลลิงตัน อาเธอร์ เวลเลสลีย์ ที่เป็นนายพลในสงครามนโปเลียน ซึ่งสามารถเอาชนะนโปเลียนได้ที่วอเตอร์ลูในเบลเยี่ยม ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกตรวจตรายามค่ำคืนด้วยเช่นกัน โดยหวังว่าจะจับตัวแจ็ค ข้อเท้าสปริงให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่อาจที่จะทำได้ต่อมามีคนเสนอรางวัลนำจับแจ็ค ข้อเท้าสปริงเป็นจำนวนเงินกว่า 100 ปอนด์ หากสามารถจับตัวแจ็ค ข้อเท้าสปริงได้ จนต้องเพิ่มเงินรางวัลขึ้นถึง 1 พันล้านปอนด์